เชื้อโรคในห้องสุขา

     จุลินทรีย์ที่พบได้จากสุขา โดยพบสะสมอยู่ตามตำแหน่งต่างๆ ที่ทุกคนที่เข้าไปใช้สุขาจะต้องสัมผัส เช่น ลูกบิดประตู ปุ่มกดชักโครก สายฉีดน้ำชำระ สบู่ล้างมือ เครื่องเป่ามือ หรือเครื่องใช้ส่วนตัวต่างๆที่วางไว้ประจำ เช่น แปรงสีฟัน หรืออุปกรณ์อื่น กรณีที่รวมอยู่กับห้องสุขา เช่น ฝักบัวอาบน้ำ เป็นต้น จุลินทรีย์พบจากตำแหน่งเหล่านั้น ได้แก่

  • ลูกบิดประตู 

     ลูกบิดประตูเป็นสิ่งแรกที่เราต้องสัมผัสและเป็นช่องทางที่เชื้อสามารถแพร่กระจายสู่บุคคลอื่น เชื้อสำคัญที่พบ ได้แก่ Staphylococcus spp. ที่พบทั่วไปบนผิวหนัง เชื้อนี้ก่อโรคทางผิวหนังหรือสร้างสารพิษที่ทำให้เกิดอาหารเป็นพิษ  เชื้ออีกชนิดคือ Escherichia coli เป็นแบคทีเรียที่อยู่ในระบบทางเดินอาหารของมนุษย์ และปะปนออกมากับอุจจาระ เป็นเชื้อที่เป็นสาเหตุหนึ่งของอาการท้องร่วงและอาหารเป็นพิษ

  • ชักโครก 

     นอกจากที่รองนั่งชักโครก อีกที่หนึ่งที่มีการสะสมของจุลินทรีย์มากคือ ปุ่มกดชักโครก เชื้อที่พบได้แก่ S. aureus และเชื้อฟีคัลโคลิฟอร์ม (Fecal coliforms) ซึ่งใช้เป็นตัวชี้วัดการปนเปื้อนอุจจาระ แบคทีเรียกลุ่มนี้อาศัยอยู่ในลำไส้ของมนุษย์ ถ้าเข้าสู่ร่างกายอาจทำให้เกิดอาการถ่ายเป็นน้ำ เป็นมูกเลือด เช่น Escherichia coli, Enterobacter spp. เป็นต้น

     การกดชักโครกเป็นอีกสาเหตุหนึ่งในการแพร่กระจายจุลินทรีย์ โดยในปีค.ศ. 2012 Best และคณะ ได้ตีพิมพ์บทความถึงการกดชักโครกโดยไม่ปิดฝาครอบ ทำให้เพิ่มความเสี่ยงในการแพร่กระจายแบคทีเรีย Clostridium difficile ที่ก่อให้เกิดโรคท้องร่วง และอาจนำไปสู่การอักเสบในลำไส้ได้ นอกจากนี้ยังพบว่า การกดชักโครกโดยไม่ปิดฝาครอบทำให้จุลินทรีย์ฟุ้งกระจายอยู่ในอากาศบริเวณรอบๆ ทำให้เชื้อสะสมอยู่ตามตำแหน่งต่างๆได้ ดังนั้น การปิดฝาครอบก่อนการกดชักโครกจึงสามารถช่วยให้ผู้ใช้สุขาและผู้ที่ต้องใช้สุขารายต่อๆไปลดความเสี่ยงหรือป้องกันการได้รับจุลินทรีย์ที่ไม่พึงประสงค์เหล่านั้นได้

  • สายฉีดน้ำชำระ

     สายฉีดน้ำชำระเป็นอีกหนึ่งจุดที่สะสมจุลินทรีย์ไว้มากจากการฉีดน้ำที่มีความแรง ผลการตรวจการปนเปื้อนในสุขาสาธารณะจากกระทรวงสาธารณะสุข พบว่าจุดที่มีเชื้อมากสุดคือบริเวณที่จับสายฉีดชำระเป็นเชื้อกลุ่มฟีคัลโคลิฟอร์มที่ก่อให้เกิดโรคอุจจาระร่วง เช่น Escherichia coli เมื่อเชื้อนี้เข้าสู่ร่างกายจะส่งผลให้เกิดการถ่ายอุจจาระที่มีจำนวนมากกว่าปกติถึง 3 ครั้งขึ้นไปหรือถ่ายเป็นน้ำหรือเป็นมูกเลือด และรายงานจากข่าวประจำวันของศูนย์วิทยบริการ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ของวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2549 ได้เผยแพร่ถึงกรณีสุภาพสตรีผู้หนึ่งที่ใช้สุขาสาธารณะ และได้ใช้สายฉีดน้ำชำระ ทำให้ได้รับจุลินทรีย์และเกิดการลุกลามของเชื้อทำให้กรวยไต เกิดการอักเสบที่ตามรายงานกล่าวว่า ทำให้มีไข้สูง ปวดตรงบั้นเอวด้านขวาจากการติดเชื้อ ทำให้ต้องรักษาตัวนานถึง 10 วัน ทั้งนี้แพทย์สันนิษฐานว่าน่าจะมีเชื้อหลงเหลืออยู่ที่บริเวณสายฉีดน้ำ อย่างไรก็ตาม ผู้ติดเชื้อให้ข้อมูลว่า ตนเคยมีประวัติการป่วยจากกรวยไตอักเสบ อาจทำให้มีโอกาสการติดเชื้อง่ายกว่าคนปกติ

ที่มา(อ่านต่อเพิ่มเติม) :   https://mgronline.com/infographic/detail/9620000044195

 

ข่าวสารอื่นๆ

Copyright © 2019. All rights reserved.